วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

หนัง/ยิว/สงคราม/ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

วันนี้ได้ดูหนังเรื่อง Schindler’s List (อีกรอบ) ร้องไห้(อีกแล้ว) ให้กับประกายความคิดแห่งชีวิตและความหวังในเรื่อง แล้วก็ทอดถอนใจกับตัวเอง สงคราม ความขัดแย้งและการฆ่าฟันของมนุษย์ด้วยกัน มีมาตั้งแต่มนุษย์เริ่มอยู่ร่วมกันเป็นสังคมและคงจะมีต่อไปไม่สิ้นสุด ตราบใดที่คนยังไม่สามารถเข้าใจ และยอมรับใน "ความแตกต่าง" 

ว่าแล้วก็ชวนให้นึกถึงหนังที่พูดเรื่องของ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ของนาซีอีกสองเรื่อง คือ The Pianist และ Life is beautiful หนังที่พูดในเรื่องเดียวกัน แต่ถ่ายทอดออกมาคนละความรู้สึก...

วันนี้ขอเขียนถึงหนังทั้ง 3 เรื่อง(เดียวกัน) นี้เลยแล้วกัน


Schindler's List (1993) 



การันตีได้จากฝีมือของพ่อมดแห่งวงการหนังอย่าง Steven Spielberg และรางวัลจากหลายสถาบันชั้นนำทั่วโลกได้เลยว่าคอหนังพลาดชมเรื่องนี้ไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง หนังบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงของ Oskar Schindler นายทุนชาวเยอรมันที่ตั้งโรงงานทำธุรกิจ หาผลประโยชน์จากแรงงานชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 

หลังจากที่ Schindler ได้สัมผัสกับความโหดร้ายทารุณ และการเหยียดเชื้อชาติระหว่างที่เขาทำธุรกิจในโปแลนด์ ชีวิตของชาวยิวที่แสนต่ำต้อย ด้อยค่า และพร้อมจะถูกปลิดไปด้วยน้ำมือทหารเยอรมันทุกเมื่อ ทำให้สายตาของเขา เปลี่ยนไป เขาสละทุกสิ่งที่สร้างขึ้น เงินทองแทบทั้งหมดที่หามาได้เพื่อแลกกับชีวิตชาวยิวในโรงงาน ด้วยการวิ่งเต้นและติดสินบนเพื่อช่วยเหลือชีวิตชาวยิวให้อยู่รอดได้มากที่สุด


Schindler ควบคุม Itzhak Stern ในการพิมพ์รายชื่อชาวยิวที่จะย้ายไปยังโรงงานในเช็คโกสโลวาเกีย บ้านกิดของเขา เพื่อให้ทุกคนรอดจากการส่งตัวไปค่ายสังหารที่ Auschwitz ฉากนี้เองเป็นที่มาของชื่อเรื่อง Schindler's List (รายชื่อของ  Schindler)


หนังความยาว 195 นาที ถ่ายทอดมาเป็นภาพขาว-ดำ เกือบตลอดทั้งเรื่อง ให้ความรู้สึกหดหู่อย่างล้ำลึก ยกเว้นฉากในตอนท้ายที่ชาวยิวในรายชื่อของ Schindler พร้อมทายาทเดินมาวางหินบนหลุมศพของ Schindler ภาพจึงได้เปลี่ยนเป็นภาพสีที่แสดงถึงปัจจุบัน

เรื่องนี้เป็นหนึ่งในหนังสองเรื่องที่พูดถึงชาวยิวของ Spielberg เรียกได้ว่าใครจะมาถ่ายทอดความรู้สึกของคนยิวได้อย่างล้ำลึก ไปมากกว่าคนยิวจากสายเลือดเช่นเขา บางฉากบีบเค้นอารมณ์จนแทบนั่งไม่ติดเก้าอี้ แต่บางฉากบอกเล่าเรื่องราวอันโหดร้ายราวกับเป็นเรื่องปกติธรรมดา นี่แหละที่เป็นเสน่ห์ของหนังเรื่องนี้

Schindler เป็นตัวอย่างของคนที่ไม่ยอมให้ความคิดเรื่องความแตกต่างทางชาติพันธุ์ มาแบ่งแยกคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ฉากท้ายเรื่องตอนที่สงครามสิ้นสุด เยอรมันประกาศยอมแพ้ และตัวเขาในฐานะสมาชิกพรรคนาซีต้องกลายเป็นอาชญากรสงคราม แสดงความรู้สึกของคนหนึ่งคนที่อยากจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และรู้สึกว่ายังทำได้ไม่ดีพอ จน Stern ผู้ช่วยของเขาได้กล่าววลีเด่นของหนังเรื่องนี้ออกมาว่า "Whoever saves one life,saves the world entire"




The Pianist (2002) 




หนังยิวของผู้กำกับยิวอีกเรื่อง แต่คราวนี้ Roman Polanski ถ่ายทอดออกมาผ่านสายตาของเหยื่อสงคราม จากอัตชีวประวัติของ Wladyslaw Szpilman นักเปียโนชาวโปแลนด์เชื้อสายยิว เขาและครอบครัวต้องเตรียมรับมือเมื่อพรรคนาซีเยอรมันเข้ายึดโปแลนด์ และเริ่มประกาศกฎจำกัดสิทธิชาวยิวทีละนิด ตั้งแต่จำกัดเงิน บังคับให้ติดสัญลักษณ์ดาวเดวิดหกแฉก กวาดต้อนให้เข้าไปอยู่ในค่ายกักกันที่แออัด


ในที่สุด ครอบครัวของ Szpilman ก็ถูกกวาดต้อนขึ้นรถไฟไปยังค่ายนรก Auschwitz เหลือแต่เขาเพียงผู้เดียวที่รอดมาจากความช่วยเหลือของตำรวจที่ทำงานให้กับเยอรมัน เขาต้องหลบหนี ซ่อนตัวอยู่เพียงลำพังและอดอยาก จุดเปลี่ยนในชีวิตของเขาเกิดขึ้นเมื่อไก้พบกับ Wilhelm Hosenfeld  ทหารเยอรมันซึ่งขอให้เขาเล่นเปียโนให้ฟัง เมื่อนั้น บทเพลงแห่งความอัดอั้นทุกสิ่งทั้งความกลัว ความหวัง ความอ้างว้าง ความคับแค้นใจ ของคนที่แทบไม่เหลืออะไรในชีวิต แต่ยังเปี่ยมด้วยจิตวิญญาณทางดนตรี ก็ได้พรั่งพรูผ่านปลายนิ้วเป็นบทเพลงที่ทรงพลัง

Wilhelm Hosenfeld ขอให้ Szpeilman เล่นเปีนโนให้ฟัง

ตลอด 148 นาที คนดูจะค่อยๆ ซึมซับความโหดร้ายที่ชาวยิวค่อยๆ ถูกกระทำทีละนิด หลายฉากถูกเล่าราวกับเรื่องทั่วไปแต่บาดลึกสะเทือนอารมณ์ ลุ้นระทึกจนแทบหยุดหายใจ โทนสีของหนังช่วงกลางเรื่องเป็นต้นไปจะออกแนวทึมๆไม่ต่างจากอารมณ์ของ Szpilman

ฉากบีบอารมณ์อีกฉาก ทหารเยอรมันเดินยิงหัวคนยิวที่นอนอยู่ทีละคน จนถึงคนสุดท้าย กระสุนหมด ชายคนนั้นต้องนอนรอฟังเสียงบรรจุกระสุนก่อนจะถูกยิงในที่สุด

Adrien Brody ที่มารับบท Szpilman ถ่ายทอดอารมณ์ความกลัว หดหู่ อ้างว้าง ออกมาทางสีหน้าแววตาได้อย่างยอดเยี่ยม จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่จะคว้ารางวัลออสการ์ดารานำชายไปครอง อีกคนที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ Thomas Kretschmann ในบท กัปตัน Wilhelm Hosenfeld ที่ออกมาไม่กี่ฉาก บทพูดไม่กี่คำ แต่คนดูไม่อาจละสายตาไปจากเขาได้เลย

Adrien Brody รับบท Wladyslaw Szpilman


Thomas Kretschmann ในบท กัปตัน Wilhelm Hosenfeld


ฉากของเรื่องเป็นอีกความสุดยอดของเรื่องนี้ ไม่เสียทีที่เป็นหนังร่วมระหว่างประเทศ 4 ประเทศ (อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส และโปแลนด์) โดยฉากที่ติดตาที่สุด น่าจะเป็นฉากที่ Szpilman เดินอย่างโดดเดี่ยว ท่ามกลางเมืองที่ถูกถล่มจนบ้านเรือนกลายเป็นซากปรักหักพังไม่ต่างจากชีวิตของเขา บอกถึงความโหดร้ายของสงครามได้เป็นอย่างดี

 





Life is Beautiful (1997)


มาถึงเรื่องสุดท้าย ที่ไม่กล่าวโดยเรียงเรื่อง Life Is Beautiful นี้ไว้กลางตามลำดับเวลาที่เข้าฉาย ก็เพราะหนังเรื่องนี้ต่างจากสองเรื่องแรกตรงที่ เป็นหนังที่เล่าการมองเรื่องสงครามอันโหดร้ายในแง่ดีได้อย่างไม่น่าเชื่อ ปูเรื่องที่ Guido Orefice ชาวอิตาลีเชื้อสายยิวผู้ร่าเริงและมองโลกในแง่ดี ไปหลงรักกับสาวต่างฐานะอย่าง ดอร่า จีบกันไป จีบกันมาเกือบปาไปครึ่งเรื่องจนมีลูกมีเต้า

กว่าที่หนังจะเข้าเนื้อหาที่เข้มข้นคนดูก็แทบหลับ เมื่อเข้าสู่ยุคสงคราม กุยโดและโจชัวร์ลูกชายของเขาถูกกวาดต้อนขึ้นรถไฟไปยังค่ายกักกันชาวยิว แม้จะรับรู้ได้ถึงสถานการณ์อันเลวร้ายแต่กุยโดยังมองโลกในแง่ดี และพยายามหลอกโจชัวร์ว่าการมาค่ายกักกันเป็นแค่การเล่นเกมเท่านั้น หลายๆ ฉาก แสดงถึงความฉลาดแกมโกงแบบศรีธนญชัยของกุยโดทำให้อดคิดไม่ได้ว่า คนยิวนี่ฉลาดมาจากสายเลือดจริงๆ ไม่งั้นคงไม่ร่ำรวยมหาศาลและเป็นเจ้าของธุรกิจใหญ่โตมากมายอย่างทุกวันนี้

กุยโดหลอกโจชัวร์ว่าการมาค่ายกักกันเป็นการเล่นเกม
ฉากตลกอีกฉากเมื่อกุยโดอาสาแปลภาษาเยอรมันมั่วๆ เป็นกติกาการเล่นเกมให้ลูกฟัง สร้างความงุนงงให้เชลยชาวยิวในห้อง


แม้หนังจะมีภาพของค่ายกักกัน แต่ก็ไม่ได้สื่อออกมาอย่างโหดร้ายรันทดหดหู่ เหมือน The pianist หรือ  Schindler’s List ไม่มีภาพการทารุณกรรมหรือการฆ่ายิงหัวเปรี้ยงๆ แบบตรงๆ แต่สื่ออกมาแบบอ้อมๆ ให้เป็นที่ "รู้กัน" อย่างฉากตอนท้ายที่กุยโดสั่งให้ลูกหลบในตู้ ส่วนตนออกตามหาดอร่าที่ตามตนกับลูกมาแต่ถูกจับได้ กุยโดที่รู้ชะตากรรมของตนยังทำตลกให้ดู เพื่อให้ลูกเชื่อว่าทั้งหมดเป็นเกม ก่อนหนังจะสื่อให้คนดูรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นด้วยเสียงกระสุน 1 นัด
"ยิ้มไว้ โลกนี้ไม่สิ้นหวัง"













ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น